Sir Alex Ferguson – Never Give In 13/08/2021

Sir Alex Ferguson – Never Give In 13/08/2021

ผมได้ชมภาพยนตร์สารคดีลูกหนังเรื่องนั้นแล้วนะครับ Sir Alex Ferguson – Never Give In

โทษฐานของผู้มีจิตศรัทธาในปีศาจแดง และเฟอร์กี้เป็นที่สุด ผมไม่ได้รับอนุญาตให้พลาดสารคดีเรื่องนี้ที่กำกับโดย เจสัน เฟอร์กูสัน ลูกชายคนโตของคุณป๋าผ่านทาง Apple TV โดยเช่ามาดูในระบบออนไลน์ ราคา 129 บาท ดูจบแล้วก็….อืมมมมมมมม…นะ

Sir Alex Ferguson – Never Give In ดำเนินไปตามสูตรสำเร็จของหนังสารคดีโดยทั่วโดยไปนั่นแหละครับ คือเอาเจ้าตัวมา สอบปากคำสลับกับผู้เกี่ยวข้อง โดยเน้นหนักไปที่บุตรชายทั้ง 3 คน บวดด้วย “ภาพเก่าๆ” ที่นำมาจากฟุตเตจเก่าๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

Sir Alex Ferguson - Never Give In

ประเด็นสำคัญก็ตามชื่อเรื่อง “Never Give In” ที่แปลว่า…ไม่ยอมจำนน อันเป็นเอกลักษณ์ของ แมนฯ ยูไนเต็ด รวมถึงตัวของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เองด้วย

ปีศาจแดงในยุคป๋ากลับมาจากความตายได้เป็นประจำจนกลายเป็นเอกลักษณ์ ขณะที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เองก็เช่นกันที่เพิ่งกลับมาจากความตายหมาดๆ ย้อนกลับไปในปี 2018 ท่านพระยาหมื่นลูกหนังบนวัย 76 กะรัตต้องเข้ารับการผ่าตัดสมองอย่างเร่งด่วน ทุกคนเป็นห่วง แต่ไม่มีใครรู้ว่าผลลัพธ์จะออกอย่างไร

ศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดเปิดเผยในสารคดีเรื่องนี้ว่าโอกาสที่ป๋าจะรอดชีวิตมีเพียงแค่ 20% เท่านั้น ย้ำอีกครั้งว่า 20%

ขอโทษ…ไม่ใช่แค่เอาตัวรอดกลับออกมาจากป่าช้าฝรั่งได้สำเร็จ แต่ความทรงจำของป๋ายังไม่เสื่อม และแม่นยำ แถมพูดจาเหมือนคนปกติอีกต่างหาก จอมคนจริงๆ ครับ-ขอบอก

Sir Alex Ferguson - Never Give In

 

มหากุนซือของปีศาจแดงผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ต่างจัดอยู่ในประเภท “เดนตาย” ทั้ง 2 คนเลยนะครับ

เซอร์ แมตต์ บัสบี้ อยู่บนเครื่องบินลำนั้นที่พุ่งทะลุรันเวย์สนามบิน มิวนิค ไปชนบ้านคนระเบิด เมื่อ 1958 หายนะครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุทั้งหมด 23 คน  รอดชีวิต 21 คน ผู้จัดการทีมของ แมนฯ ยูไนเต็ด คือหนึ่งในนั้น

จากคนที่อ่านอัตชีวประวัติของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน มาแล้ว 2-3 เล่มในช่วงเวลาต่างกัน (เล่มแรก My Managing ออกตั้งแต่ยุค 90 เล่ม ส่วนเล่มที่ 2 เพิ่งออก หลังวางมือจากตำแหน่งผู้จัดการทีมปีศาจแดง เมื่อ 2013) ท่านผู้ชมทางบ้านอย่างผมจึงอยากเห็นว่าสารคดีเรื่องนี้มันจะมีอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ที่เรายังไม่เคยรู้มาก่อนบ้างไหม

หนึ่งในสิ่งที่รับรู้เพิ่มเติม คือป๋าแกขับเคลื่อนชีวิตผู้จัดการทีมของตัวเองในช่วงแรกๆ ด้วยความคับแค้น เรื่องของเรื่องคือ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เป็นแฟนบอลของ เรนเจอร์ส ตั้งแต่ยังละอ่อน

ป๋าให้การว่าบ้านตัวเองอยู่ห่างจากสนาม ไอบร็อกซ์ พาร์ค เพียงแค่ 200 เมตร แถมการเป็น “โปรแตสแต้นต์” บังคับให้เป็น เรนเจอร์ส เพราะการฟุตบอลในเมืองกลาสโกว์ถูกแบ่งแยกด้วยศาสนา

โปรแตสแต้นต์ = เรนเจอร์ส
โรมัน คาธอลิก = เซลติก

เพียงเพราะศรีภรรยาของแก (แคธี่) เป็นคาธอลิก มันเกือบทำให้ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ไม่ได้เป็นผู้เล่นของ เรนเจอร์ส มาแล้ว – คิดเอาว่ารุนแรงขนาดไหน

 

Sir Alex Ferguson - Never Give In

สมัยเป็นผู้เล่น ป๋าเป็นหัวหอกตัวเป้าที่ยิงกระจายจนเข้าตาทีมใหญ่อย่าง เรนเจอร์ส จนยอมทำลายสถิตินักเตะค่าตัวแพงที่สุดในสก๊อตแลนด์ เพื่อซื้อตัวมาร่วมทีมในราคา 65,000 ปอนด์ เมื่อ 1967

จุดแตกหักระหว่าง “เฟอร์กี้” กับ “เรนเจอร์ส” เกิดขึ้นในนัดชิงชนะเลิศ สก๊อตติช คัพ ระหว่าง เรนเจอร์ส กับ เซลติก ที่ แฮมป์เดน พาร์ค เมื่อ 1969 เซลติก ถล่ม เรนเจอร์ส 4-0

จุดเปลี่ยนสำคัญของเกมเกิดขึ้นเมื่อศูนย์หน้าหมายเลข 9 ของ เดอะ ไลท์ บลูส์ ประกบตัวผู้เล่นของ เซลติก ที่ชื่อ บิลลี่ แม็คนีล พลาด ปล่อยให้เขาโขกลูกเข้าไปตุงตาข่ายง่ายๆ

อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กลายเป็นแพะรับบาปในความปราชัยแบบยับเยินครั้งนั้นทันที นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็ไม่เคยลงเล่นให้ เรนเจอร์ส อีกเลย

Sir Alex Ferguson - Never Give In

เมื่อถึงวันที่เขาเป็นผู้จัดการทีม  เป้าหมายในการดำเนินอาชีพผู้จัดการทีมของเฟอร์กี้ คือโค่นอำนาจของ “ดิ โอลด์ เฟิร์ม” ใน สก๊อตแลนด์ ให้จงได้ ในฐานะผู้จัดการทีมของ อเบอร์ดีน – ป๋าสามารถโค่นอำนาจของ ดิ โอลด์ เฟิร์ม ได้สำเร็จจริงๆ ด้วยการคว้าแชมป์ สก๊อตติช พรีเมียร์ ดิวิชั่น ในปี 1980 ก่อนจะคว้าแชมป์ได้อีก 2 สมัยในปี 1984 และ 1985

เท่านั้นไม่พอ ยังเอาชนะทีมเก่าของตัวเองอย่าง เรนเจอร์ส ในนัดชิงฯ สก๊อตติช คัพ ในปี 1982 อีกต่างหาก ก่อนจะเสกให้สโมสรเล็กๆ จากสก๊อตแลนด์สำแดงอหังการถึงขั้นโค่น บาเยิร์น มิวนิค กับ เรอัล มาดริด ในเส้นทางสู่แชมป์ คัพ
วินเนอร์ส คัพ เมื่อ 1983

Sir Alex Ferguson - Never Give In

ช่วงแรกของสารคดีเป็นการเอาป๋าที่กลับจากความตายมาเล่าถึงประวัติตัวเองตั้งแต่เป็นคนงานอู่ต่อเรือในกัฟเวิ่น เป็นเสเพลย์บอย และเป็นนักฟุตบอล ก่อนเป็นผู้จัดการทีม

แน่นอนว่ามันไม่มีทางครบถ้วนกระบวนความภายในเวลาเพียงชั่วโมงกว่าๆ ของสารคดีสักเรื่อง หรือต่อให้สารคดีมีความยาว 3 ชั่วโมงก็ไม่มีทางเล่าจบจนผมว่าน่าจะทำเป็น ‘มินิซีรี่ส์’ ขนาดสั้นสัก 8 ตอนจบไปเลยหมดเรื่อง

ด้วยเวลาอันจำกัด สารคดีเรื่องนี้จึงตัดจบหลัง แมนฯ ยูไนเต็ด คว้า “ทริปเปิ้ลแชมป์” อย่างยิ่งใหญ่ในปี 1999 จากการทำ 2 ประตูชัยในช่วงทดเจ็บของนัดชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เพื่อที่จะบอกท่านผู้ชมว่า “เนเวอร์ กิฟ อิน” หรือ…ขออย่ายอมแพ้

หากตัดความเป็นเด็กผีแบบสุดลิ่มทิ่มรูถูออกไปแล้วใส่ความเป็นหนังดูหนังเข้ามาแทน สารคดีเรื่องนี้ไม่ถือว่าดีเลิศประเสริฐศรีมณีเด้งอะไรมากมาย แถมคำบรรยายภาษาไทยเข้าขั้นห่วยแตกอีกต่างหาก เนื่องเพราะคนแปลซับไตเติ้ล ไม่รู้เรื่องฟุตบอล และไม่รู้จักศัพท์ฟุตบอล

ยกตัวอย่างคำว่า “คว้าแชมป์” จึงกลายเป็น “ชนะถ้วย” ด้วยประการฉะนี้

ว่าแล้วมีเรื่องเล่าสู่เล็กน้อย คือเมื่อสิบกว่าปีก่อน ตอนภาพยนตร์เรื่อง “GOAL” จะเข้าฉายในเมืองไทย

ทางค่ายหนังใส่ใจเรื่องนี้ ด้วยการติดต่อให้ผมนี่แหละเป็นผู้ขัดเกลาพลาง “รีไรต์” คำบรรยายภาษไทยของภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เป็นภาษาของฟุตบอล ตอนหนังจบ นอกจากจะมีชื่อของผู้แปลบทบรรยายภาษาไทย ยังมีชื่อผมขึ้นอยู่บนจอด้วยนะครับ

นอกจากประเด็นสำคัญที่หนังต้องการสื่อตามชื่อเรื่องคือ “Never Give In” แล้ว อีกจุดที่หนังพยายามสื่อ คือ “จิตวิทยา” ในการคุมทีมอันเป็นจุดเด่นของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด

Sir Alex Ferguson - Never Give In

เอริก คันโตน่า ยอมรับว่าเขาเป็นผู้เล่นที่ได้รับอภิสิทธิ์พิเศษจากเจ้านาย ผู้เล่นคนอื่นอาจถูกเครื่องเป่าผมมหาประลัยยัดเข้าไปในรูตูด หากทำอะไรไม่เข้าท่า แต่พอเป็น “ก็องโต้” เท่านั้นแหละ ป๋าจะปฏิบัติอีกแบบ

ไรอัน กิ๊กส์ เล่าว่าครั้งหนึ่งตัวเขาถูกป๋าตำหนิเรื่องการแต่งกายอย่างหนักว่าผิดกาลเทศะขณะไปงานกาล่าดินเนอร์ ทันใด เอริก คันโตน่า ก็กรีดกายเข้ามาพร้อมกางเกงวอร์ม

แทนที่จะใช้มาตรฐานเดียวกัน ป๋ากลับชื่นชมดาวเตะฝรั่งเศสผู้นี้ว่าแต่งตัวได้อย่างมีสไตล์ซะอย่างนั้น

เหมือนเลือกที่รักมักที่ชัง เพียงแต่นั่นทำให้ศิลปินลูกหนังชาวฝรั่งเศสต้องหมั่นฝึกซ้อมอย่างหนักมากขึ้น เพื่อโชว์ฟอร์มการเล่นอันเปล่งปลั่งอย่างน่าสยดสยองออกมาพลางรักษาสภาพของตัวเองให้อยู่ในระดับสุดยอดตลอดเวลา

มิเช่นนั้นการได้รับอภิสิทธิ์ของเขาจะย้อนกลับมาทิ่มแทงตนเองทันที

Sir Alex Ferguson - Never Give In

นี่คือจิตวิทยาของผู้จัดการทีมระดับบรมครู

แต่เรื่องที่ทำให้ท่านผู้ชมอย่างผมประทับใจมากที่สุดคือการให้สัมภาษณ์ของ กอร์ดอน สตรั๊คคั่น ลูกทีมคนหนึ่งของ “เฟอร์กี้” ตั้งแต่ที่ อเบอร์ดีน ก่อนเลื้อยตูดมาอยู่ด้วยกันในโรงละครแห่งความฝัน

เจ้าของสมญา “ไอ้มะพร้าวห้าว” บอกว่า เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เป็นกุนซือที่มีความสามารถพิเศษอย่างหนึ่ง คือสามารถกระชาก “ปีศาจ” ในตัวลูกทีมให้ออกมาได้อย่างเหลือเชื่อ

ฉะนั้นสิ่งที่ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ต้องทำคือกระชากความเป็นอสูรกายในตัวลูกทีมออกมาให้ได้เช่นกัน

ตลอดหนึ่งชั่วโมงกว่าๆ ของสารคดีเรื่องนี้ สิ่งผู้ชมทางบ้านอย่างผมเห็นจากพระเอกของเรื่องคือความแน่วแน่และเด็ดเดี่ยว บุคลิกที่แข็งกร้าวสมกับเป็นจ่าฝูง

  เหนือสิ่งอื่นใดคือความเป็นนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ยอมแพ้ให้สิ่งใด แม้แต่พญามัจจุราชที่เคยเดินทางมาเยือน

“Boomark reddevil”

อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามข่าวสาร แมนยู

• เรื่องน่าสนใจ •